ท่อระบายน้ำ เป็นท่อที่ใช้อำนวยความสะดวกในการถ่ายเทน้ำหรือลำเลียงน้ำจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เพื่อขจัดน้ำเสียออกจากอาคารบ้านเรือน หรือพื้นที่อุตสาหกรรมให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเหมาะสมที่สุด ทั้งยังสามารถช่วยป้องกันน้ำท่วมขัง และปัญหาอื่น ๆ ตามมาที่เกิดจากน้ำ เช่น การพังทลายของดิน ถนนหนทางชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นต้น ดังนั้น ท่อระบายน้ำจึงถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งท่อระบายน้ำอาจมีความแตกต่างกันไปทั้งในด้านของวัสดุที่มีการนำมาใช้ และลักษณะการใช้งาน เนื่องจากท่อระบายน้ำบางชนิดอาจเหมาะกับการนำไปใช้ที่เฉพาะเจาะจง ผู้ใช้งานจึงควรศึกษาท่อระบายน้ำแต่ละประเภทให้ดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัสดุ องค์ประกอบ และประเภทของท่อระบายน้ำ รวมถึงความแข็งแรง ขนาด และการนำไปติดตั้งเพื่อใช้งาน

ควรเลือกใช้ท่อระบายน้ำคอนกรีตอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

ท่อระบายน้ำแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร

วัสดุท่อระบายน้ำที่แตกต่างกัน ย่อมนำไปใช้งานที่แตกต่างกัน เช่น ท่อระบายน้ำแบบเหล็ก หากดูแล้วเหล็กมีข้อดีตรงที่เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทานดี แต่เมื่อนำมาใช้งานเป็นท่อระบายน้ำอาจมีข้อเสียอยู่ กล่าวคือ มีน้ำหนักค่อนข้างมาก ขนส่งเคลื่อนย้ายลำบาก เกิดสนิมได้ง่าย ซึ่งอาจนำไปสู่การผุกร่อนของท่อระบายน้ำ และมีอายุการใช้งานที่สั้นลง ในขณะที่ท่อระบายน้ำซีเมนต์ใยหิน ที่เริ่มมีการนำมาใช้งานบ้าง เนื่องจากมีข้อดีตรงที่มีน้ำหนักที่เบา มีความแข็งแรง และมีความคงทานต่อการกัดกร่อนจากกรดบางประเภท เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และดินที่มีฤทธิ์เป็นกรดรุนแรง มีการเสริมแร่ใยหินเข้าไปเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับซีเมนต์ เนื่องจากซีเมนต์เพียงอย่างเดียว ประกอบด้วยแร่ธาตุที่ถูกบดอย่างละเอียดทำให้ไม่สามารถยึดเกาะกันได้มากพอ การเพิ่มแร่ใยหินจึงช่วยให้ท่อระบายน้ำประเภทนี้มีความแข็งแรงขึ้นนั่นเอง
มาถึงท่อระบายน้ำคอนกรีตกันบ้าง ซึ่งท่อระบายน้ำประเภทนี้เป็นท่อที่นิยมนำมาใช้กันอย่างมาก คอนกรีตมีความแตกต่างจากซีเมนต์ตรงที่คอนกรีตเกิดจากการผสมของซีเมนต์ มวลรวม รวมถึงทราย และน้ำเข้าด้วยกัน ทำให้คอนกรีตสามารถก่อตัวและขึ้นรูปได้ตามที่ต้องการ ทั้งยังสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ใช้งานได้ง่ายอีกด้วย คอนกรีตธรรมดาอาจมีความแข็งแรงไม่มากพอจึงมีการเสริมเหล็กเข้าไปเพื่อเสริมให้คอนกรีตสามารถรองรับน้ำหนักได้มากยิ่งขึ้น จึงสามารถนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย

ควรเลือกท่อระบายน้ำคอนกรีตสำเร็จรูปอย่างไร

จากที่กล่าวข้างต้น ท่อระบายน้ำคอนกรีต หากมีการเสริมเหล็กเข้าไปจะช่วยให้ท่อระบายน้ำมีความแข็งแรง รองรับน้ำหนักได้มากยิ่งขึ้น เราเรียกท่อระบายน้ำชนิดนี้ว่า ท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ทั้งยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เนื่องจากคอนกรีตเป็นท่อระบายน้ำที่ทนการกัดกร่อนได้ดี และถ้าหากมีการเคลือบสารพิเศษ จะยิ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต่อการกัดกร่อนจากสารเคมี และสภาพวะแวดล้อมโดยรอบได้ดีมากขึ้นไปอีก ทำให้ท่อระบายน้ำคอนกรีตมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ในขณะที่ท่อระบายน้ำที่ทำจากวัสดุประเภทอื่น อาจมีการเสื่อมสภาพได้อย่างรวดเร็วเมื่อต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย และการควบคุมได้ยาก อีกทั้งยังใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วเมื่อนำท่อระบายน้ำคอนกรีตสำเร็จรูปไปใช้ในงานก่อสร้าง ซึ่งท่อระบายน้ำหลัก ๆ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่

  1. ท่อระบายน้ำคอนกรีตสี่เหลี่ยม ท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปแบบสี่เหลี่ยม หรือเรียกอีกอย่างว่า ท่อสี่เหลี่ยม (Box Culvert) เป็นท่อระบายน้ำในลักษณะของท่อรูปกล่องสี่เหลี่ยม นิยมนำไปงานกับงานใต้ผิวจราจร ใต้ทางเท้า และใต้ทางปั่นจักรยาน เป็นท่อสำหรับงานเดินสายไฟ สายเคเบิ้ลได้ด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยรูปทรงที่เป็นสี่เหลี่ยมแบบนี้ เมื่อนำไปใช้กับการระบายน้ำ จะช่วยให้สามาถระบายน้ำได้ในปริมาณมาก เช่น บริเวณลำคลองเล็ก ๆ ทั้งยังสามารถใช้เป็นอุโมงค์ลอดใต้ท้องถนนเพื่อสัญจรไปมาได้อีกด้วย จึงเหมาะกับงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และการระบายน้ำในคลองขนาดเล็ก
  2. ท่อระบายน้ำคอนกรีตกลม ท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปทรงกลม หรือท่อกลม (Round Concrete Culvert) เป็นท่อระบายน้ำคอนกรีตที่เราพบเห็นกันบ่อย ๆ และสามารถนำไปใช้งานที่หลากหลาย ท่อคอนกรีตกลมนี้ จะมีลักษณะเป็นท่อคอนกรีตทรงกลม มีหน้าตัดเป็นวงกลมอยู่ที่ 90 องศา โดยมักจะใช้ในระบบระบายน้ำเสียจากแหล่งต่างๆ และการระบายน้ำผิวดินที่เป็นน้ำฝน โดยท่อระบายน้ำคอนกรีตสำเร็จรูปจัดอยู่ในประเภทโครงสร้างแข็งเช่นเดียวกับท่อระบายน้ำคอนกรีตประเภทอื่น ๆ แต่ด้วยลักษณะกลมจึงสามารถระบายน้ำได้น้อยกว่าท่อระบายน้ำคอนกรีตสี่เหลี่ยม แถมยังใช้กับการระบายน้ำที่มีขนาดเล็กกว่าด้วย

เลือกท่อระบายน้ำคอนกรีตอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

  1. เลือกท่อระบายน้ำคอนกรีตที่มีตรา มอก. มอก. หรือมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นเครื่องหมายที่การันตีถึงคุณภาพของชิ้นงานนั้น ๆ จริง ๆ แล้วไม่มีเพียงเฉพาะท่อระบายน้ำเท่านั้น ตรา มอก. เราคงได้เห็นและได้ยินบ่อย ๆ เพราะมักจะปรากฏกับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัยของผู้ใช้แทบทั้งสิ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สุขภัณฑ์ และของใช้ เป็นต้น เนื่องจาก มอก. นี้จะเป็นการควบคุมการผลิตตั้งแต่วัสดุไปจนถึงกระบวนการในแต่ละขั้นตอน ในสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมอยู่เสมอ เช่น ความชื้น เวลา และอุณหภูมิ ทำให้ท่อระบายน้ำทุกท่อนมีคุณภาพดีสม่ำเสมอกันโดยรอบในทุก ๆ ชิ้น สำหรับ ตรา มอก. ของท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ยังรวมถึงเครื่องหมายและฉลากที่ระบุถึงชั้นคุณภาพ ขนาด ความยาวของท่อระบายน้ำ วันเดือนปีที่ผลิต และโรงงานที่ผลิต เป็นต้น
  2. เลือกโรงงานที่น่าเชื่อถือและน่าไว้ใจ การเลือกโรงงานที่มีชื่อเสียงที่ดีที่สามารถควบคุมการผลิตท่อระบายน้ำได้ตามมาตรฐาน มักจะได้รับการตรวจสอบการผลิตอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งโรงงานที่ดีมักมีผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบ การผลิต และการทดสอบที่น่าเชื่อถือ มีความปลอดภัยหากมีการนำไปใช้อย่างถูกต้อง และมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้การผลิตท่อมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานการผลิต
  3. เลือกท่อระบายน้ำให้ตรงกับลักษณะพื้นที่ การคำนวณและออกแบบการระบายน้ำ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการออกแบบที่ดีจะทำให้สามารถระบุขนาดของท่อระบายน้ำคอนกรีตสำเร็จรูป ลักษณะของท่อระบายน้ำสำเร็จรูป และประเภทของท่อระบายน้ำคอนกรีตสำเร็จรูปได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเมื่อนำมาติดตั้งและใช้งานจะสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ดี ไม่มีปัญหาของการอุดตัน หรือการเกิดน้ำท่วมขังเมื่อมีน้ำไหลมารวมกันมาก ๆ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดการระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน ไม่จำเป็นต้องรื้อเพื่อก่อสร้างใหม่ หรือลงทุนเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม การวางท่อระบายน้ำ หากต้องการให้มีการใช้งานได้อย่างยาวนาน ไม่เกิดการพังทลายหรือทรุดตัวเร็ว นอกจากเราต้องคำนวณน้ำหนักการกดทับของรถที่ผ่านไปมา หรือปริมาณน้ำฝน หรือน้ำเสียจากแหล่งต่าง ๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงไม่แพ้กันเลยนั่นก็คือ การติดตั้งท่อระบายน้ำคอนกรีตสำเร็จรูป ซึ่งข้อปฏิบัติการวางท่อ มีดังนี้

    1. ควรขุดร่องสำหรับวางท่อให้มีความลึกของร่องตามแนวที่ออกแบบไว้
    2. ก่อนที่จะวางท่อระบายน้ำคอนกรีตลงไปในร่อง ควรต้องมีการปรับร่องให้ได้ระดับที่ดีเสียก่อน ซึ่งผู้คุมงานควรตรวจสอบให้ดีว่ารองพื้นด้วยทราบหยาบมีความหนาเพียงพอหรือยัง เพราะความหนาของทรายหยาบที่ดีควรไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร
    3. พยายามวางท่อลงโดยที่ให้ท้องท่อระบายน้ำเรียบกับทรายรองพื้น อย่าให้เกิดช่องว่างภายใต้ท้องท่อระบายน้ำ
    4. ทำการทดสอบความดันของน้ำว่าส่งผลเสียต่อท่อ เช่น ท่อแตก ชำรุด หรือรั่วซึมหรือไม่ หากทดสอบแล้วไม่มีให้กลบดินทีละชั้น และอัดด้วยเครื่องอัดขนาดเล็ก และควรทดสอบความหนาแต่ละชั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในอนาคต

เมื่อทราบแล้วว่าท่อระบายน้ำที่นำไปใช้ควรใช้ท่อระบายน้ำคอนกรีตสำเร็จรูปแบบไหน จากนั้นต้องมาดูขนาดและความแข็งแรงให้สอดคล้องกับแต่ละโครงการ ซึ่งความสามารถในการรองรับน้ำหนักจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเสริมแรงด้วยเหล็กนั่นเอง แน่นอนว่าถ้าต้องการเลือกท่อระบายน้ำที่ดีมีประสิทธิภาพควรเลือกจากท่อที่มีตรา มอก. ทุกท่อน และควรเลือกกับโรงงานที่มีความน่าเชื่อถือ

- Enovathemes