ท่อระบายน้ำที่เห็นกันอยู่ตามท้องตลาดหลัก ๆ แล้วมักใช้กับงานประปา และงานระบายน้ำทั้งสิ้น ซึ่งงานแต่ละประเภทจะใช้ชนิดของท่อที่แตกต่างกันไป สำหรับงานระบายน้ำนั้นมักใช้ท่อที่ต้องมีความแข็งแรง และมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่มาก ๆ เพราะจำเป็นต้องใช้สำหรับการลำเลียงหรือระบายน้ำเสียออกจากหลาย ๆ พื้นที่ไปทิ้งยังสถานที่ที่รองรับน้ำเหล่านั้นโดยเฉพาะ เช่น น้ำเสียจากชุมชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม น้ำส่วนเกินจากการทำการเกษตร หรือเป็นการระบายน้ำที่มาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากเกินไป เพราะหากน้ำฝนไม่มีการระบายหรือระบายได้ช้าจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเอาได้ เป็นต้น แล้วท่อระบายน้ำควรใช้แบบไหน ระหว่างท่อระบายน้ำคอนกรีต กับท่อซีเมนต์ ท่อทั้งสองประเภทนี้สามารถใช้ระบายน้ำได้เหมือนหรือต่างกัน อะไรคือข้อดี และข้อเสียของท่อระบายน้ำทั้ง 2 ประเภท และการนำไปใช้งานเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร มาหาคำตอบกันเลย

ท่อระบายน้ำคอนกรีต กับท่อระบายน้ำซีเมนต์ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ความแตกต่างของท่อระบายน้ำคอนกรีต และท่อซีเมนต์

ท่อระบายน้ำทั้งท่อคอนกรีตและท่อซีเมนต์ต่างก็ทำมีส่วนประกอบของปูนซีเมนต์เช่นเดียวกัน แต่ท่อทั้งสองประเภทนี้ต่างก็มีความแตกต่างกันตั้งแต่ส่วนประกอบที่เป็นโครงสร้างของท่อระบายน้ำ และองค์ประกอบอื่น ๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

        1. ท่อระบายน้ำคอนกรีต (Concrete Pipe)
          ลักษณะของท่อระบายน้ำคอนกรีตทั่วไปจะประกอบด้วยปูนซีเมนต์ หิน ทราย น้ำ และน้ำยาผสมคอนกรีต หากต้องการความแข็งแรงเพิ่มขึ้นจะมีการเสริมแรงด้วยเหล็ก เราเรียกท่อระบายน้ำประเภทนี้ว่า ท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งท่อระบายน้ำคอนกรีตจะมีลักษณะเป็นท่อทรงกลม และท่อทรงสี่เหลี่ยม แต่ท่อระบายน้ำคอนกรีตส่วนใหญ่ที่นิยมใช้จะเป็นท่อทรงกลมมากกว่า ท่อระบายน้ำคอนกรีตทรงกลมที่เราเห็นทั่วไปยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทเพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน ได้แก่ ท่อระบายน้ำปากลิ้นราง ท่อระบายน้ำปากระฆัง และท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กแบบดันลอด ซึ่งความแตกต่างของท่อระบายน้ำทั้ง 3 ประเภทนี้ คือ ลักษณะของท่อและประสิทธิภาพของท่อนั่นเอง สำหรับท่อระบายน้ำแบบปากลิ้นรางจะมีปลายด้านหนึ่งบากด้านใน ส่วนอีกปลายด้านหนึ่งจะบากด้านนอกเพื่อให้สามารถสวมท่อต่อกันได้ ในขณะที่ท่อระบายน้ำแบบปากระฆังตัวปลายท่อด้านหนึ่งจะผายออกคลายกับปากระฆังเพื่อให้สามารถครอบปลายท่อของอีกท่อหนึ่งได้ ท่อในลักษณะนี้จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการรั่วซึมได้มากกว่า ส่วนท่อคอนกรีตเสริมเหล็กแบบดันลอด จะถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับงานวางสายไฟมากกว่างานวางท่อระบายน้ำซึ่งต่างกับท่อระบายน้ำสองประเภทแรก
          สำหรับท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือ ท่อ คสล. มักผลิตตามมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. เช่น มอก. ท่อคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อสำเร็จ สำหรับงานระบายน้ำ 128-2560 ซึ่งมีให้เลือกตั้งแต่ มอก. ชั้น 1, 2, 3, 4 ตามความแข็งแรงและการนำไปใช้ โดยท่อระบายน้ำคอนกรีตที่เป็น มอก. ชั้น 1 จะเป็นท่อระบายน้ำคอนกรีตที่มีความแข็งแรง ความทนทาน สามารถรองรับน้ำหนักและแรงอัดได้ดีมากที่สุด จึงเหมาะกับงานโครงสร้างสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน หรือท่าเรือ เป็นต้น

              • จุดเด่นของท่อระบายน้ำคอนกรีต เนื่องจากท่อระบายน้ำคอนกรีตทำจากวัสดุที่มีความทนทาน และมีการเสริมความแข็งแรงด้วยเหล็กเส้นภายในทำให้สามารถรองรับน้ำหนัก และแรงกดทับได้ในปริมาณมาก สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นกรดหรือการกัดกร่อนได้ดี จึงมีอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 75 – 100 ปี ทั้งยังไม่แตกหักได้ง่าย จึงมีความทนทานกว่าท่อซีเมนต์ใยหินที่มีความเปราะบางกว่า มีราคาที่ถูก สามารถเลือกขนาด ความแข็งแรง รูปทรง และประเภทได้ตามที่ต้องการ สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็วเมื่อใช้ท่อระบายน้ำคอนกรีตสำเร็จรูป ทั้งยังมั่นใจได้เพราะผลิตตามมาตรฐาน มอก. และสามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายตั้งแต่พื้นที่ขนาดเล็กไปจึงถึงขนาดใหญ่ ตั้งแต่น้ำปริมาณที่น้อยไปจนถึงน้ำที่ต้องการระบายเป็นจำนวนมากตามบ้านที่อยู่อาศัย ชุนชมขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ทางหลวงสาธารณะ โรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ส่วนราชการต่าง ๆ
              • จุดด้อยของท่อระบายน้ำคอนกรีต คือ มีน้ำหนักที่มากทำให้ขนย้ายลำบาก จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการการขนย้ายและติดตั้งขนาดใหญ่ ซึ่งต่างจากท่อระบายน้ำที่เป็นท่อซีเมนต์ใยหิน เพราะมีน้ำหนักที่เบามากกว่าจึงขนย้ายและติดตั้งได้ง่ายกว่า

       

      1. ท่อซีเมนต์ (AC คือ Asbestos Cement Pipe)
        เป็นท่อที่ใช้ปูนซีเมนต์และใยหิน หรือแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งการใช้แร่ใยหินนั้นเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ท่อระบายน้ำ เราจึงเรียกท่อระบายน้ำประเภทนี้ว่า ท่อซีเมนต์ใยหิน หรือท่อซีเมนต์กระดาษ มักใช้กับงานระบายน้ำทิ้ง หรืองานระบายน้ำในปริมาณที่น้อยและพื้นที่จำกัด ท่อซีเมนต์ใยหินหลัก ๆ แล้วแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ท่อซีเมนต์ใยหินชนิดทนความดัน และท่อซีเมนต์ใยหินชนิดไม่ทนแรงดัน โดยท่อซีเมนต์ใยหินที่ไม่ทนต่อแรงดันนี้ มักจะนำไปใช้สำหรับงานวางสายไฟ งานระบายอากาศหรือก๊าซมากกว่า
        สำหรับท่อซีเมนต์ใยหินชนิดทนความดัน จะแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามการใช้งานเช่นเดียวกับท่อระบายน้ำคอนกรีต เช่น ท่อซีเมนต์ใยหินที่ทำจากซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท 1 จะเหมาะกับการใช้งานทั่วไป ส่วนท่อซีเมนต์ใยหินชนิดทนซัลเฟตที่ทำจากซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 5 เป็นท่อชนิดพิเศษที่ทำขึ้นเพื่อให้สามารถใช้งานในบริเวณที่ต้องทนต่อสภาพแวดล้อมใกล้กับทะเลหรือสัมผัสกับเกลือมากเป็นพิเศษ เป็นต้น

            • จุดเด่นของท่อซีเมนต์ใยหิน คือ มีน้ำหนักที่เบา สามารถขนย้ายได้ง่ายจึงง่ายต่อการก่อสร้างหน้างาน ราคาไม่แพงมาก มีขนาดให้เลือกที่หลากหลายไม่ต่างกับของท่อระบายน้ำคอนกรีต โดยมีความยาวของท่อตั้งแต่ 1 – 4 เมตร และมีขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อระบายน้ำตั้งแต่ 4 – 12 นิ้ว มีความสามารถในการนำความร้อนได้ต่ำ สามารถทนแรงดันได้สูงสุดเพียง 25 กก./ตรซม. สามารถทนอุณหภูมิได้สูงถึง 30 – 45 องศาเซลเซียส ใช้สำหรับบริเวณหรือพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด เช่น บ้านขนาดเล็ก ทาวน์เฮาส์ เป็นต้น สามารถนำมาใช้สำหรับงานวางท่อประปาได้แต่ไม่ควรใช่ในระยะยาวเพราะส่วนประกอบของซีเมนต์อาจมีการปนเปื้อนที่ติดมากับน้ำ งานชลประทาน หรือใช้ตามทางสาธารณะตามชนบท
            • จุดด้อยของท่อซีเมนต์ใยหิน คือ ไม่ทนต่อการกัดกร่อนจากสารเคมี สามารถทนทานต่อกรดหรือเกลือในดินได้น้อย เมื่อถูกกระแทกมีโอกาสที่จะแตกหักได้ง่ายเพราะค่อนข้างที่จะเปราะบาง มีอายุการใช้งานที่น้อยกว่าท่อระบายน้ำคอนกรีต เพราะท่อระบายน้ำแบบท่อซีเมนต์ใยหินนี้มีอายุการใช้งานอยู่ที่ 10 – 20 ปี เท่านั้น ส่วนการวางท่อนั้นต้องใช้การวางเปิดหน้าดินในร่องให้กว้างคล้ายกับการวางท่อระบายน้ำคอนกรีตจึงจะสามารถวางท่อซีเมนต์ได้

        อย่างไรก็ตาม หากต้องการนำท่อซีเมนต์ใยหินชนิดทนความดันไปใช้งาน ผู้ใช้งานควรเลือกท่อที่ผลิตตามมาตรฐานกระทรวงอุตสาหกรรม ตาม มอก. 81-2548 หรือมีมาตรฐานที่เทียบเท่ากัน เพื่อความปลอดภัยในระหว่างการใช้งาน
        สรุปแล้วท่อระบายน้ำคอนกรีตกับท่อซีเมนต์ใยหินมีความแตกต่างกันตั้งแต่ส่วนประกอบที่เป็นโครงสร้างของท่อระบายน้ำ ทำให้ท่อระบายน้ำมีความแข็งแรงและทนทานต่อการแรงอัด แรงกระแทกที่แตกต่างกัน ซึ่งท่อระบายน้ำคอนกรีตมีความสามารถที่ทนต่อแรงอัดได้ดีมากกว่า ส่วนความทนทานต่อการกัดกร่อนของกรดและสภาพแวดล้อมที่อยู่ใต้ดินขึ้นอยู่กับสารประกอบที่ใช้แบบพิเศษโดยท่อทั้ง 2 ประเภท มีการออกแบบให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีโดยเฉพาะใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามท่อระบายน้ำคอนกรีตสามารถนำไปใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า หลากหลายกว่า และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าท่อซีเมนต์ใยหิน แต่ด้วยท่อระบายน้ำทั้ง 2 ชนิดนี้มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ต้องคำนึงในระหว่างที่วางแผนการก่อสร้างในโครงการต่าง ๆ การเลือกใช้ท่อระบายน้ำแบบไหนดีกว่ากันนั้นอาจใช้หลาย ๆ ปัจจัยเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ

- Enovathemes