ท่อใยหิน หรือท่อซีเมนต์ใยหิน เป็นท่อที่พบเห็นได้ยินบ่อย ๆ หลายคนคงสงสัยว่าท่อใยหินเป็นอย่างไร ใช้งานในรูปแบบไหน และมีความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรกับท่อระบายน้ำคอนกรีต หากจำเป็นต้องเลือกใช้ควรเลือกแบบไหนดีกว่ากัน คำถามทั้งหมดนี้สามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้

รู้จักกับท่อซีเมนต์ใยหิน

ท่อซีเมนต์ใยหินชนิดทนความดัน เหมาะสำหรับงานประปา การส่งน้ำตามชลประทานและอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการผลิตจากส่วนผสมของปูนซีเมนต์ ใยหิน และน้ำ ทำให้สามารถทนแรงดันได้มาก จึงมีความแตกต่างท่อระบายน้ำคอนกรีตที่มักจะนำไปใช้ในงานระบายน้ำต่าง ๆ มากกว่าแค่การส่งน้ำ เช่น น้ำทิ้ง น้ำฝน เป็นต้น ในประเทศไทยมีการนำเอาท่อซีเมนต์ใยหินมาใช้ในระบบประปามามากกว่า 25 ปี และยังมีการนำมาใช้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากท่อซีเมนต์ใยหินเป็นท่อความดันที่มีราคาไม่สูงมากแต่สามารถทนทานต่อสภาพอากาศและสภาวะแวดล้อมได้ดี อีกทั้งยังมีอายุใช้งานที่ยาวนาน ท่อซีเมนต์ใยหินและข้อต่อ แบ่งออกตามลักษณะการใช้งานเป็น 2 ประเภท คือ

    • ท่อซีเมนต์ใยหินและข้อต่อ ประเภท ก. (ประเภทธรรมดา) เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป
    • ท่อซีเมนต์ใยหินและข้อต่อ ประเภท ข. (ประเภททนซัลเฟตได้สูง) เหมาะสำหรับการนำไปใช้บริเวณพื้นที่ที่ต้องสัมผัสกับเกลือด่าง หรือบริเวณใกล้กับทะเล

สำหรับส่วนประกอบของท่อซีเมนต์ใยหินทั้ง 2 ประเภทนั้น มีความแตกต่างกันตรงที่ประเภทของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ คือ

    • ท่อซีเมนต์ใยหินและข้อต่อ ประเภท ก. ต้องทำด้วยสารผสมเนื้อเดียวกัน มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท 1 ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม “ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์” หรือเทียบเท่า รวมถึงใยหิน และน้ำ
    • ท่อซีเมนต์ใยหินและข้อต่อ ประเภท ข. ต้องทำด้วยสารผสมที่เป็นเนื้อเดียวกัน มีส่วนผสมเป็นปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท 5 ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม “ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์” หรือเทียบเท่า รวมถึงใยหิน และน้ำ

ในแง่ของการผลิตท่อระบายน้ำคอนกรีตกับท่อซีเมนต์ใยหินก็มีความแตกต่างกันด้วย เนื่องจากท่อซีเมนต์ใยหินมีกระบวนการผลิตที่คล้ายกับการผลิตกระดาษ โดยมีการผลิตท่อดังนี้

      1. นำปูนซีเมนต์ ใยหิน และน้ำ มาผสมเข้าด้วยกันแล้วทำเป็นแผ่นบาง ๆ จากนั้นนำมาม้วนบนเหล็กให้เป็นทรงกลมในลักษณะเป็นรูปท่อ
      2. อัดด้วยแรงไฮดรอลิคก่อนที่ซีเมนต์จะก่อตัวหรือแข็งตัวขึ้น เพื่อให้ได้ความหนาของท่อตามที่ต้องการ
      3. นำท่อเข้าไปอบให้แข็งตัว จากนั้นทำการกลึงบริเวณส่วนหัวและส่วนท้าย
      4. นำท่อไปบ่มแช่น้ำไว้จนอายุครบ 14 วัน

หลังจากได้เป็นท่อใยหินออกมา ต้องทำการทดสอบความทนความดันของท่อใยหินด้วยการทดสอบทางไฮดรอลิคทุก ๆ ท่อนก่อน เพื่อจะได้ทราบว่าท่อใยหินนั้นเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ที่ มอก. 81 “ท่อซีเมนต์ใยหินชนิดความดัน” กำหนดไว้ โดยขนาดของท่อซีเมนต์ใยหินต้องมีความยาวท่อนละ 5 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 100-1,000 มม. มีชั้นคุณภาพ (ชั้นความดัน) ตั้งแต่ ชั้น 5, 10, 15, 20, 25 และ ชั้น 35 ซึ่งแตกต่างจากท่อระบายน้ำคอนกรีตที่มีชั้นคุณภาพแค่ 1-4 เท่านั้น
เช่นเดียวกับท่อระบายน้ำคอนกรีต บนท่อซีเมนต์ใยหินจะต้องมีการทำเครื่องหมายที่แสดงถึงมาตรฐานทุกท่อนให้ชัดเจน และเครื่องหมายต้องไม่ลบเลือนได้ง่าย ซึ่งประกอบไปด้วย ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของโรงงานผู้ผลิต ชื่อขนาดระบุและชั้นคุณภาพ ชื่อประเภทของท่อ อักษร “กปน.” หรือ “MWA” และวัน เดือน ปีที่ผลิต หรือรุ่น

ท่อใยหินคืออะไร ต่างจากท่อระบายน้ำคอนกรีตอย่างไร

ความสำคัญของท่อระบายน้ำคอนกรีต

คอนกรีตมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ เมื่อคอนกรีตแข็งตัวแล้วจะมีอายุการใช้งานตลอดโครงสร้างของคอนกรีต และมีกำลังแรงอัดที่ดีจึงไม่เกิดการแตกหัก หรือแตกร้าวได้ง่าย ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อกำลังอัดของคอนกรีต ได้แก่

  1. วัสดุผสมคอนกรีต ได้แก่ ปูนซีเมนต์ มวลรวม น้ำ และสารผสมเพิ่ม สำหรับส่วนประกอบของท่อระบายน้ำคอนกรีตจะต้องมีวัสดุประสานที่เป็นปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ มวลผสม น้ำ อาจมีเถ้าลอยกับสารผสมเพิ่มหรือไม่ก็ได้ และมีเหล็กเสริมในกรณีที่ต้องการให้ท่อระบายน้ำคอนกรีตมีความแข็งแรงมากขึ้น
  2. ส่วนผสมของคอนกรีต เพราะมีผลต่อกำลังอัดของคอนกรีตโดยตรง คือ ถ้าใช้ส่วนผสมคอนกรีตที่มีอัตราส่วนน้ำต่อปูนซีเมนต์ต่ำกว่า จะทำให้คอนกรีตมีกำลังอัดสูงกว่า ดังนั้น อัตราส่วนของน้ำและวัสดุประสานต้องเป็นไปตามที่มาตรฐานอุตสาหกรรมกำหนดถึงจะได้ค่าตามมาตรฐานที่ตั้งไว้
  3. การผลิตท่อระบายน้ำคอนกรีต ทั้งการทำคอนกรีตและการเสริมเหล็กต้องเป็นไปตามที่ มอก. กำหนดเช่นเดียวกัน
  4. การบ่มท่อระบายน้ำคอนกรีต โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อกำลังของคอนกรีต ได้แก่ ความชื้น อุณหภูมิ และเวลาที่ใช้ในการบ่ม
ท่อระบายน้ำคอนกรีตมีการออกแบบมาเพื่อรองรับงานระบายน้ำเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน น้ำทิ้ง น้ำเสีย น้ำป่า จากทั้งชุมชน หมู่บ้าน ถนน โรงงานอุตสาหกรรม โรงเรียน หรือแม้แต่โรงงาน เป็นต้น ทำให้ส่วนประกอบที่ใช้สำหรับผลิตท่อระบายน้ำคอนกรีตจึงต้องเน้นถึงการใช้งานที่ต้องการความแข็งแรงสูงเป็นหลัก ท่อระบายน้ำจะสามารถใช้รองรับน้ำหนักได้มาก และทนทานต่อการกัดกร่อน การแตกหักได้สูง หากโครงสร้างภายในท่อระบายน้ำคอนกรีตที่มีคุณภาพชั้นดี ท่อระบายน้ำคอนกรีตจะมีอายุที่ใช้ได้ยาวนานเป็นร้อยปีเลยทีเดียว อีกทั้ง ท่อระบายน้ำคอนกรีตยังมีการออกแบบในหลายรูปทรงทั้งแบบกลม และแบบเหลี่ยมเพื่อนำไปใช้งานที่หลากหลาย แต่ท่อระบายน้ำคอนกรีตที่นิยมนำมาใช้มากที่สุดจะเป็นท่อระบายน้ำคอนกรีตแบบกลมมากกว่า
ในปัจจุบันท่อระบายน้ำคอนกรีตสำเร็จรูปในตลาดมีมากมายให้เลือก มีขนาดหลากหลายและสามารถสั่งขนาดเพิ่มได้ตามต้องการแต่ยังคงให้ความสำคัญของมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยเป็นอันดับแรก สำหรับเครื่องหมายที่แสดงมาตรฐานของท่อระบายน้ำคอนกรีตที่ปรากฎบนท่อนั้นมีความต่างจากท่อซีเมนต์ใยหินเล็กน้อย คือ ต้องระบุชั้นคุณภาพ ขนาดของท่อระบายน้ำคอนกรีต ความยาวของท่อระบายน้ำคอนกรีตหน่วยเป็นมิลลิเมตร เพิ่มเติมจากการระบุชื่อผู้ผลิต และวัน เดือน ปี ที่ผลิต

ระหว่างท่อระบายน้ำคอนกรีต และท่อซีเมนต์ใยหินต่างกันอย่างไร

ก่อนหน้านี้ได้พูดถึงท่อระบายน้ำคอนกรีต และได้รู้จักท่อซีเมนต์ใยหินแล้ว คราวนี้จะมาเปรียบเทียบถึงความแตกต่างกันชัด ๆ เป็นข้อ ๆ กันดีกว่า โดยมีรายละเอียดดังนี้

    1. ส่วนประกอบ ส่วนประกอบของซีเมนต์ใยหินจะมีความคล้ายกับท่อระบายน้ำคอนกรีต คือ มีปูนซีเมนต์ และน้ำ แต่ที่ต่างกันตรงที่ปูนซีเมนต์ใยหิน จะใส่ใยหินเข้าไป ส่วนท่อระบายน้ำคอนกรีตจะใส่พวกมวลรวม หรืออาจมีการเสริมเหล็กเพื่อความแข็งแรง ทำให้ท่อระบายน้ำคอนกรีตมีความแข็งแรงมากกว่าท่อซีเมนต์ใยหิน
    2. การนำไปใช้งาน ท่อซีเมนต์ใยหิน เหมาะสำหรับการใช้งานประเภทประปา การชลประทาน การลำเลียงน้ำดื่ม หรือระบบส่งน้ำต่าง ๆ แต่สำหรับท่อระบายน้ำคอนกรีต เหมาะกับงานระบายน้ำเสีย น้ำทิ้ง และระบายปริมาณน้ำฝนออกจากพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง
    3. ความยาวของท่อ ความยาวของท่อทั้ง 2 ชนิดมีความแตกต่างกันอย่างมาก เพราะท่อระบายน้ำคอนกรีตมีขนาด 1 เมตร เท่ากันในทุก ๆ ท่อน ส่วนท่อซีเมนต์ใยหิน จะมีความยาวของท่อ 5 เมตรในทุก ๆ ท่อน
    4. ชั้นคุณภาพ ตามที่เขียนไว้ข้างต้น ชั้นคุณภาพของท่อระบายน้ำคอนกรีตจะมีความแตกต่างตั้งแต่ 1-4 ซึ่งแบ่งตามความแข็งแรงในการรับน้ำหนัก โดยที่ชั้นคุณภาพชั้น 1 มีความแข็งแรงมากที่สุด ในขณะที่ท่อซีเมนต์ใยหินมีชั้นคุณภาพทั้งหมด 6 ชั้นที่แบ่งตามแรงดันตั้งแต่ 5 – 35
    5. บ่อพักท่อระบายน้ำคอนกรีต กับวาล์ว อีกหนึ่งจุดที่ต่างกันระหว่างท่อระบายน้ำคอนกรีต กับท่อซีเมนต์ใยหินก็คือ ท่อระบายน้ำคอนกรีตจำเป็นต้องมีบ่อพักท่อระบายน้ำคอนกรีตเพื่อใช้ในการระบายอากาศ หรือการเก็บเศษขยะ เศษปฏิกูล หรือไว้สำหรับให้คนลงไปทำความสะอาดภายในท่อระบายน้ำคอนกรีต แต่ท่อซีเมนต์ใยหินจะมีการติดตั้งวาล์วเพื่อใช้ในการระบายอากาศ ซึ่งจะติดตั้งไว้บนท่อซีเมนต์โดยเฉพาะช่วงโค้งขึ้นของท่อ หรือจุดที่สูงกว่า เพราะในจุดนี้จะทำให้น้ำไม่สามารถไหลได้อย่างเต็มที่ และมักติดไว้บริเวณที่มีการเปลี่ยนขนาดท่อ ส่วนบ่อพักท่อระบายน้ำคอนกรีตมักจะติดตั้งบริเวณที่มีการเปลี่ยนทิศทางของท่อระบายน้ำคอนกรีต

หลังจากที่ได้เห็นความแตกต่างของท่อระบายน้ำคอนกรีต และท่อซีเมนต์ใยหิน ตอนนี้หลายคนคงเข้าใจถึงลักษณะการใช้งาน และลักษณะทางกายภาพของท่อทั้งสองชนิดนี้แล้ว และคงเลือกนำไปใช้งานได้อย่างเหมาะสม

- Enovathemes