ในการติดตั้งท่อระบายน้ำคอนกรีต และบ่อพักคอนกรีตสำเร็จรูป จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของข้อกำหนด มาตรฐาน และข้อบังคับต่าง ๆ ทั้งก่อนการติดตั้งในแง่ของการผลิต และระหว่างการติดตั้ง เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงประสิทธิภาพการใช้งานที่ยาวนาน และความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของผู้ใช้งานและผู้ที่สัญจรไปมา

แนวทางการเตรียมติดตั้งบ่อพักคอนกรีตที่ควรรู้

ข้อควรรู้เมื่อติดตั้งบ่อพักคอนกรีตสำเร็จรูป

1. วางแผนวางบ่อพักคอนกรีต

ในงานวางระบบท่อระบายน้ำจะต้องมีการศึกษาข้อกำหนดและข้อบังคับก่อนทุกครั้ง ซึ่งระยะการวางบ่อพักเหมาะสมทั่วไปคือ 8 – 10 เมตรต่อ 1 บ่อพัก แต่ในแต่ละพื้นที่และการใช้งานอาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไป เช่น

  • บริเวณรอบตัวอาคาร: มีการออกพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร โดยต้องมีบ่อพักระบายน้ำอยู่ที่มุมที่เลี้ยว และมีระยะห่างระหว่างบ่อพักไม่เกิน 12 เมตร สำหรับท่อระบายน้ำแบบท่อปิดขนาดไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร หรือทุกระยะไม่เกิน 24 เมตร หรับท่อระบายน้ำแบบท่อปิดขนาดตั้งแต่ 60 เซนติเมตรขึ้นไป
  • บริเวณที่ดินเกษตรกรรมในกรุงเทพมหานคร: มีการกำหนดให้ทำบ่อพักท่อระบายน้ำประจำทุกแปลงย่อย และต้องมีการแยกท่อระบายเข้าบ่อพักออกจากกัน โดยควรมีระยะห่างระหว่างบ่อพักไม่เกิน 15 เมตร และต้องมีทุกจุดที่มีการเปลี่ยนขนาดท่อ และจุดบรรจบของท่อหรือรางระบายน้ำ
  • บริเวณบ้านพักที่อยู่อาศัย: มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินว่า ให้มีการจัดบ่อพักระบายน้ำประจำทุกที่ดินภายในบ้านเดี่ยว และให้ใช้บ่อหนึ่งต่อสองแปลงได้เฉพาะที่ดินแปลงย่อยที่เป็นบ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ แต่ต้องแยกท่อระบายน้ำเข้าบ่อพักแยกออกจากกัน
  • บริเวณนิคมอุตสาหกรรม: มีกำหนดให้มีการวางบ่อพักน้ำเสียโดยมีระยะห่างต้องไม่เกิน 40 เมตร ต่อ 1 บ่อ

2. การเตรียมพื้นที่

การติดตั้งบ่อพักคอนกรีตสำเร็จรูปจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการวางท่อระบายน้ำ ซึ่งในการก่อสร้างจะต้องมีการกำหนดจุดวางและตำแหน่งสำหรับการวางท่อระบายน้ำและบ่อพักคอนกรีตให้ถูกต้อง รวมถึงจะต้องมีการติดตั้งบนพื้นผิวที่เรียบเสมอ ดังนั้น การปรับสภาพพื้นที่ของดินจะต้องมีความแน่นหนาเพียงพอ ไม่เป็นดินโคลนเพื่อไม่ให้เกิดการทรุดตัวของดิน ซึ่งการขุดร่องสำหรับวางแนวบ่อพักคอนกรีตจะต้องได้ขนาด ความลึก ความกว้างตามที่กำหนดไว้ และควรได้รับการตรวจสอบโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะถมดินรอบ ๆ และการทำให้แน่นให้เรียบร้อย แม้แต่ท่อระบายน้ำคอนกรีตก็เช่นกันควรวางบนพื้นผิวที่เรียบเสมอ และควรจัดวางตามแนวที่มีการวางแผนเอาไว้

 

3. ตรวจสอบสภาพของบ่อพักคอนกรีต

เมื่อได้รับบ่อพักคอนกรีตแล้วต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานของบ่อพักคอนกรีตเช่นเดียวกับการตรวจสอบท่อระบายน้ำคอนกรีต ซึ่งสิ่งที่เราต้องตรวจดูอย่างคร่าว ๆ ในเบื้องต้นคือ สภาพความสมบูรณ์โดยรอบของบ่อพักคอนกรีตสำเร็จรูป โดยอันดับแรกต้องดูว่ามีลักษณะตรงกับความต้องการหรือไม่ เป็นบ่อพักคอนกรีตที่มีรูเชื่อมต่อระบายน้ำกี่ทาง มีการบิ่น แตก หรือกร่อนที่บริเวณช่องต่อระหว่างท่อระบายน้ำหรือไม่ รวมถึงฝาบ่อพักคอนกรีตที่มาคู่กับบ่อพักคอนกรีตก็ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพ และความแข็งแรงของฝาบ่อพักด้วยเช่นกัน หากฝาบ่อพักคอนกรีตมีสภาพชำรุด หรือบิ่นควรแจ้งแก่ผู้รับผิดชอบเพื่อทำการเปลี่ยนฝาบ่อพักใหม่ให้มีสภาพการพร้อมใช้งาน จากนั้นอาจมีการเก็บตัวอย่างบ่อพักคอนกรีตเพื่อนำไปทดสอบกำลังอัดด้วย

 

4. ตรวจสอบบ่อพักสำเร็จรูปหลังติดตั้ง

หลังจากติดตั้งแนววางบ่อพักคอนกรีตสำเร็จรูปเรียบร้อยแล้ว ควรมีการตรวจสอบสภาพภายนอกของบ่อพักคอนกรีตอีกครั้งเพื่อดูว่าบ่อพักคอนกรีตมีการแตก หรือบิ่นในระหว่างการก่อสร้างหรือไม่ หรือมีการติดตั้งเอียงไม่ตรงหรือเปล่า เพื่อที่จะได้มีการปรับตำแหน่งของบ่อพักคอนกรีตให้ตรงจะได้ง่ายต่อการเชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำ หรือเปลี่ยนบ่อพักคอนกรีตใหม่หากพบว่ามีการชำรุด เป็นต้น และควรดูว่าบ่อพักคอนกรีตมีการติดตั้งสูงเกินกว่าพื้นผิวของดินหรืออยู่ต่ำกว่าหรือไม่ เพราะถ้าอยู่ต่ำกว่าพื้นดินอาจทำให้ดินหรือทรายไหลลงไปบ่อพักแล้วนำไปสู่การอุดตันภายในท่อระบายน้ำเอาได้ รวมถึงต้องตรวจดูความสะอาดภายในบ่อพัก โดยผู้ควบคุมว่าต้องนำเอาเศษปูน เศษไม้ เศษดินที่ตกลงอยู่บริเวณก้นบ่อพักคอนกรีตออกให้เรียบร้อยด้วย

 

5.การกลบดินถมทับบ่อพัก

การกลบดินบ่อพักคอนกรีต จะต้องใช้ดิน หิน หรือทราย ที่ไม่มีหินก้อนใหญ่ หรือเศษไม้มาเจือปน หรือแม้แต่สิ่งปฏิกูลอย่างเศษพลาสติก ถุงกระดาษ และสารอินทรีย์อื่น ๆ และควรมีการจัดแนววางให้อยู่ในระนาบที่เสมอกันในแนวเส้นตรง ซึ่งการกลบควรทำทีละชั้น ๆ จากนั้นจึงกระทุ้งอัดดินให้แน่น โดยใช้น้ำน้ำช่วยเพื่อให้ดินมีการอัดตัวกันแน่นมากขึ้น

หลังจากนั้น ควรตรวจสอบดูภายในของบ่อพักคอนกรีตด้วยเช่นกัน โดยสำรวจดูว่าขอบบริเวณรอยต่อของท่อระบายน้ำมีรูหรือรอยอยู่หรือไม่ เพราะถ้ามีรูที่ปิดไม่สนิทอาจทำให้เกิดการรั่วซึมจนทำให้ดินหรือทรายไหลปนเข้ามาได้ ซึ่งการเชื่อมตัวระหว่างบ่อพักคอนกรีตสำเร็จรูปเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้เช่นกัน

 

6. ตรวจสอบท่อระบายน้ำที่เชื่อมต่อกับบ่อพักคอนกรีต

บ่อพักคอนกรีตสำเร็จรูปมีหน้าที่หลักคือเป็นบ่อพักสำหรับดักจับตะกอน และเป็นช่องให้คนลงไปทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ดังนั้น การตรวจสอบท่อระบายน้ำจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กับไปด้วย ซึ่งผู้ควบคุมงานหรือวิศวกรก่อนต้องสำรวจดูว่าระดับของท่อระบายน้ำเป็นเช่นไร มีความลาดเอียงได้มาตรฐานหรือไม่ โดยต้องเช็กกว่าระดับปากขอบของท่อระบายน้ำที่น้ำไหลเข้า และน้ำไหลออกต้องไม่เท่ากัน และควรมีความลาดเอียงจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งในทุกระยะตามที่กฎกระทรวงกำหนด เช่น ความลาดเอียงอยู่ที่ 1:200 หมายความว่า ในทุก ๆ ระยะ 200 เมตร จะต้องมีความลาดเอียงท่อลดต่ำลง 1 เซนติเมตร เพื่อให้น้ำพาเศษตะกอนไหลลงบ่อพักได้เป็นอย่างดี และเพื่อเป็นการลดการอุดตันของเศษปฏิกูลต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในท่อระบายน้ำได้ นอกจากนี้ ต้องสำรวจดูที่ก้นบ่อของบ่อพักระบายน้ำคอนกรีตว่ามีเศษดินตกค้างอยู่มากน้อยเพียงใด หากมีอยู่ในปริมาณมากต้องทำการนำเอาดินออก เพื่อที่เวลามีการใช้งานจะได้สามารถรองรับน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

การวางแนวท่อระบายและบ่อพักระบายน้ำเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน ดังนั้น การติดตั้งท่อระบายน้ำพร้อม ๆ กับบ่อพักระบายน้ำต้องกระทำอย่างระมัดระวัง พยายามให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และควรเลือกใช้งานบ่อพักที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยควรเลือกโรงงานหรือผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญ น่าเชื่อถือ และไว้ใจได้ เพื่อที่จะลดการทำงาน และลดระยะเวลาในการทำงาน เพราะหากมีการสุ่มตรวจแล้วพบว่าท่อระบายน้ำหรือบ่อพักคอนกรีตสำเร็จที่นำมาใช้ไม่ได้มาตรฐานจะต้องนำส่งกลับ และรอผู้ผลิตนำส่งมาใหม่ซึ่งอาจทำให้เสียเวลาในการทำงานระยะรอคอยสินค้าได้

- Enovathemes